รวม 7 ข่าวดังวิทยาศาสตร์
เผยผลสำรวจข่าวดัง 10 อันดับ ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
พบประชาชนนิยมเหตุการณ์ใกล้ตัวและกระทบการดำเนินชีวิตเป็นหลัก…
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
(สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ประกาศผลการจัดอันดับ 10 ข่าวดังวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำปี 2556 เพื่อส่งเสริมความเข้าใจข่าวสารทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประชาชนทั่วไป
โดย นายทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า การจัดอันดับ 10 ข่าวดังวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำปี 2556 เป็นกิจกรรมที่
สวทช. และ วท.
จัดขึ้นเพื่อสร้างความนิยมและส่งเสริมความเข้าใจข่าวสารทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในสังคมไทย
โดยในปีนี้ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภายใต้สังกัด วท.
ทำการเก็บรวบรวมข้อมูลจากนักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป
โดยรวบรวมข่าวสารด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทั้งในและต่างประเทศที่เกิดขึ้นระหว่างวันที่
1 ธ.ค.2555-15 พ.ย.2556
สำหรับผลการสำรวจในปีนี้
พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ให้ความสนใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใกล้ตัวและส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สิน
ตลอดจนเหตุการณ์ที่เป็นกระแสความสนใจของคนสังคมในวงกว้าง อย่างไรก็ตาม
ข่าวการค้นพบ "อนุภาคฮิกส์" โดยนักวิจัยฟิสิกส์ได้รับรางวัลโนเบล
ซึ่งถือเป็นการค้นพบที่สำคัญในวงการวิทยาศาสตร์ระดับโลกไม่ได้รับการโหวตติดอันดับ 1 ใน 10 เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่าเป็นเรื่องที่ไกลตัว
เข้าใจยาก และยังคงไม่มีผลกระทบใดๆ ต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของตน
ส่วนผลการสำรวจ 7 ข่าวดังวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีประจำปี
2556 ได้แก่
1. น้ำมันรั่วและเทคโนโลยีการกำจัดคราบน้ำมันที่จังหวัดระยอง
จากเหตุการณ์การรั่วไหลของน้ำมันดิบกลางทะเลใน จ.ระยอง
ส่งผลให้น้ำทะเลและชายหาดถูกปกคลุมด้วยคราบน้ำมันเป็นบริเวณกว้าง กระทรวงวิทย์ฯ
ได้นำเทคโนโลยีภาพจากดาวเทียมและข้อมูลกระแสน้ำจากสถานีเรดาร์ชายฝั่งตรวจวัดคลื่นและกระแสน้ำ
เพื่อติดตามและคาดการณ์การเคลื่อนที่ของคราบน้ำมัน
รวมถึงการเฝ้าติดตามข่าวการใช้เทคโนโลยีกำจัดคราบน้ำมันเพื่อฟื้นฟูทะเลและชายหาด
2. ข้าวสารรมข้าว และผลการตรวจสอบ กระแสข่าวข้าวที่ปนเปื้อนสารเมทิลโบรไมด์
และฟอสฟีน หรือทั่วไปเรียกว่าการรมยานั้น
ได้สร้างความวิตกกังวลต่อคนไทยเป็นอย่างมาก
ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ออกมาทำการตรวจสอบข้าว กระบวนการผลิต
และสุ่มตัวอย่างข้าวที่ออกจำหน่ายให้กับผู้บริโภค พร้อมได้มีการออกมายืนยันว่าการรมควันมีความจำเป็นและเป็นที่ยอมรับตามมาตรฐานสากล
3. ระทึกอุกกาบาตตกที่รัสเซีย
โดยเหตุอุกกาบาตตกในรัสเซียเกิดขึ้นเมื่อเวลาประมาณ 9.20 น.
ตามเวลาท้องถิ่นของวันที่ 15 ก.พ.2556 นักวิทยาศาสตร์พบว่าอุกกาบาตดังกล่าวเป็นอุกกาบาตหินที่ประกอบไปด้วยแร่
chondrite และมีเหล็กผสมอยู่เล็กน้อยเพียง 10% ก่อนจะเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลกมีมวลประมาณ 10,000 ตัน
(เทียบเท่ารถยนต์เกือบ 8,000 คัน)
ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางใหญ่สุดที่ประมาณการไว้คือ 17 เมตร
พุ่งเข้ามาด้วยความเร็วราว 30 กิโลเมตรต่อวินาที
ความร้อนจากการเสียดสีอย่างรุนแรงกับอากาศทำให้อากาศขยายตัวออกอย่างรวดเร็ว
และระเบิดกลายเป็นควันที่ปรากฏยาวถึง 20 กิโลเมตร
4. อาวุธเคมีซีเรีย ปลิดชีพ 1,300 ศพ การใช้อาวุธเคมีสังหารชาวซีเรียในเขตกูตา ใกล้กรุงดามัสกัส เมื่อวันที่
21 ส.ค.2556 ทำให้มีผู้เสียชีวิตทันทีไม่ต่ำกว่า
1,300 ศพ และบาดเจ็บจำนวนมาก
ล่าสุดคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ หรือ UNSC โดยสมาชิกทั้ง
15 ชาติ เห็นพ้องในการประชุมที่มหานครนิวยอร์กของสหรัฐฯ
ในร่างเอกสารให้ประณามเหตุการณ์ดังกล่าวพร้อมกับออกคำสั่งเด็ดขาดให้รัฐบาลซีเรียทำลายอาวุธเคมีที่ครอบครองอยู่ทั้งหมดภายในกลางปี
2557

.
5. นวัตกรรมมูลค่าสูงจากข้าวและยางของไทย
โดยกระทรวงวิทย์ฯ ชูนวัตกรรมปลายน้ำเพิ่มมูลค่าน้ำยางพารา
เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนเกษตรกรไทยที่กำลังประสบปัญหาราคาตกต่ำ
ด้วยการคิดค้นนวัตกรรม อาทิ "ล้อตัน"
ประหยัดพลังงานที่ใช้ปริมาณน้ำยางมาก
"เซรั่มและครีมหน้าขาวจากสารสกัดน้ำยางพารา" เป็นต้น
และการสร้างนวัตกรรมข้าว ตั้งแต่ระบบการผลิตข้าว ที่มีวิธีหลากหลายในการจำกัดมอด
อาทิ ใช้คลื่นวิทยุรมไนโตรเจนแทนสารเคมีเพื่อไม่ให้มีสารตกค้าง การแปรรูป เช่น
น้ำมันรำข้าวออริซานอลสูง น้ำสลัดไร้ไขมัน เครื่องดื่มให้พลังงานจากข้าว เป็นต้น
การแปรรูปเป็นยาและอาหารเสริม อย่างนมข้าวอะมิโน ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากข้าวหอมนิล
รวมถึงการผลิตเป็นเครื่องสำอางอย่างแป้งพัฟจากแป้งข้าวเจ้า
แป้งฝุ่นจากแป้งข้าวเจ้า หรือแม้กระทั่งครีมเคลือบเงาสำหรับอุปกรณ์ในรถยนต์
การสร้างนวัตกรรมข้าวโดยเฉพาะการแปรรูปเป็นเครื่องสำอางนั้นสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้อย่างมหาศาล
ทั้งนี้ กระทรวงวิทย์ฯ ยังได้ริเริ่มจัดตั้ง “ศูนย์ความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมข้าวไทย”
(Rice Innovation Center of Excellence: RICE) ด้วย
6. มศว เปิดเครื่องรักษามะเร็งมูลค่า 60
ล้านบาท ใช้คลื่นความร้อนยิงผ่านผิวหนัง ไร้แผล ไม่ต้องผ่าตัด
ขณะนี้ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ร่วมกับบริษัท เอสคูแลป คลินิก
(เอเชีย) จำกัด ร่วมวิจัยพัฒนาและให้บริการ
"เครื่องมือรักษาเนื้องอกด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง" (High-Intensity
Focused Ultrasound : HIFU) ซึ่งเครื่องนี้ได้ทำการติดตั้งที่ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ
สยามบรมราชกุมารี อ.องครักษ์ จ.นครนายก
เป็นเครื่องแรกของประเทศโดยการทำงานของเครื่องมีหลักการคล้ายกับการใช้แว่นขยายรวมแสงอาทิตย์ให้ตกอยู่ในตำแหน่งเดียวกัน
(focus) ทำให้ความเข้มข้นของแสงสูง จนเกิดเป็นความร้อน
ซึ่งแพทย์จะยิงคลื่นความร้อนนี้ผ่านผิวหนังไปยังเซลล์เนื้องอกหรือเซลล์มะเร็งโดยไม่ทำลายผิวหนังหรือเนื้อเยื่ออื่นๆ

7. ล้างพิษตับ เทรนด์สุขภาพใหม่-จริงหรือลวง เนื่องจากตับเป็นอวัยวะที่สำคัญ
ทำหน้าที่หลายอย่างให้กับร่างกาย
ทั้งในระบบย่อยอาหารและกำจัดพิษในร่างกายจึงเกิดกระแสการดูแลใส่ใจเรื่องสุขภาพที่ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วในขณะนี้
คือ การเข้าคอร์สล้างพิษตับ ด้วยโปรแกรมหรือหลักสูตรที่มีให้เลือกมากมาย
อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ยังไม่มีการค้นคว้าวิจัยอย่างจริงจังถึงผลดีและผลเสียของการล้างพิษตับแต่อย่างใด.
เป็นข่าวดังที่น่าสนใจและช่วยให้ผู้คนได้รับข่าวสารปัจจุบันที่เป็นประโยชน์มากๆเลยค่ะ
ตอบลบ